อาหารของงูคอร์น

คำเตือน : บทความนี้อาจจะมีความรุนแรงในการใช้ภาษา และภาพบางภาพที่อาจจะดูไม่เหมาะสม เนื่องด้วยเนื้อหาที่ค่อนข้างละเอียดและเจาะลึก เด็กๆและผู้ใหญ่ที่เข้ามาอ่านควรใช้วิจรณญาณในการอ่านด้วยนะครับ ถ้าเกรงว่าจะรับไม่ได้รบกวน Skip ข้ามบทความนี้ได้เลยครับ สามารถหาอ่านเรื่องนี้ได้ใน บทความนี้ 

งูคอร์นกินอะไร ?

                 เป็นคำถามที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 1 ในการเลี้ยงงูคอร์นเลยก็ว่าได้ ในบทความนี้จะขอร่ายรายละเอียดแบบยาวๆให้เข้าใจกันไปเลยละกันนะครับ

                 งูคอร์น ที่มาจากภาษาอังกฤษคำว่า Corn ซึ่งแปลว่าข้าวโพด แน่นอนว่าเจ้างูคอร์นเนี่ยมักจะพบในไร่ข้าวโพด นั่นก็เพราะว่าอาหารมันอยู่ที่ไร่ข้าวโพดนั่นเองครับ สิ่งที่อยู่ในไร่ข้าวโพดที่คอยกัดกินฝักและเมล็ดข้าวโพดจนได้รับความเสียหาย และคอยทำให้ชาวไร่อารมณ์เสียนั่นก็คือ "หนู" นั่นเองครับ 

                 หนูนั้นจัดว่าเป็นอาหารตามธรรมชาติของงูหลายๆชนิดเลยก็ว่าได้ แต่เจ้างูคอร์นเนี่ยมันบริโภคหนูเป็นหลักกว่า 98% เลยครับ ในสภาพธรรมชาติเคยมีรายงานการพบว่างูคอร์นสามารถกินลูกเจี๊ยบ กิ้งก่า และงูด้วยกันเองได้ในบางครั้ง (แต่การกินงูด้วยกันเองน่าจะเป็นการกินตามน้ำเสียมากกว่า) ซึ่งในเมืองไทยก็นำเข้างูคอร์นมามากกว่า 10 ปีแล้ว แน่นอนว่าทรัพยากรการเลี้ยงค่อนข้างจะพร้อมให้คนไทยเลี้ยงเข้างูคอร์นแล้วแหละครับ


                 หนูที่เราให้งูคอร์นนั้นหลักๆมีอยู่ 1 ชนิด นั่นก็คือ หนูไมซ์ (Mice) ครับผม ซึ่งเจ้าหนูไมซ์เนี่ยเป็นอาหารหลักของงูคอร์น หลายๆคนคงจะเริ่มตั้งคำถามแล้วว่าแล้วให้หนูชนิดอื่นไม่ได้หรอ แน่นอนว่าได้ครับ แต่ในเรื่องของการกินของงูนั้นบางตัวจะค่อนข้างเรื่องมากและมีนิสัยประจำตัว บางตัวที่ติสท์แตกไปเลยก็มี แต่โดยส่วนมากแล้วงูคอร์นมักจะเป็นงูที่กินค่อนข้างง่ายครับ มักจะไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องของการกินสักเท่าไหร่ แต่มักจะมีปัญหาในเรื่องของการย่อย ถ้าหากอุณหภูมิสวิงบ่อยๆ บางตัวอาจจะหยุดกินไปช่วงหนึ่งเลยก็มี มักจะพบอาการนี้ในช่วงรอยต่อของฤดูที่อากาศมีความผันผวนเป็นอย่างมาก แต่เท่าที่สังเกตดูจะเป็นแค่ราวๆร้อยละ 3 เท่านั้นที่เกิดอาการนี้ ซึ่งถือว่าน้อยมากๆเลยแหละครับ

                  อย่างที่บอกไปว่างูคอร์นเป็นงูที่กินง่ายอยู่ง่ายกับ ความถี่ในการกินอาหารของงูคอร์นนั้นเรียกกว่าทำเอาหลายๆคนงงเป็นไก่ตาแตกเลย เพราะว่ากินเพียง 5 - 7 วันต่อครั้งเท่านั้น ซึ่งนับคร่าวๆก็ราวๆ 1 ครั้งแต่สัปดาห์เท่านั้นเองครับ ซึ่งถือว่าน้อยมากถ้าเปรียบเที่ยบกับสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ นั่นก็เพราะว่างูมีกิจวัตรที่ทำตลอดชีวิตคือ กิน และ นอน และก็วนไปใหม่ครับ จึงทำให้งูเป็นสัตว์ที่ใช้อัตราการเผาผลาญต่ำมาก เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องเอาพลังงานเข้าไปทุกวัน เรียกว่าอยู่กันแบบชิวๆ ไม่มีเวลาก็เลี้ยงได้เลยแหละครับ

                 อาหารของงูในปัจจุบันนี้หลายๆคนอาจจะจินตนาการภาพไว้ว่าจะต้องหย่อนหนูเป็นๆที่ดิ้นดุ๊กดิ๊กลงไปข้างในกล่องของงูแล้วให้งูฉกรัดอย่างน่าสังเวชใจ บอกได้เลยว่าคุณคิดผิดครับ อาหารของงูที่เป็นสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันราวๆ 95% มักจะเป็นเหยื่อแช่แข็งครับ ซึ่งคุณก็ไม่ต้องกังวลว่าจะมีการฆ่าแกงกันเกิดขึ้นต่อหน้าคุณ เลือดที่สาดเต็มกล่อง รัดจนไส้ปลิ้นอย่างที่คุณเคยจินตนาการไว้ ไม่มีแน่นอนครับ และงูคอร์นส่วนใหญ่ที่ฝึกกินเหยื่อแช่แข็งมาตั้งแต่เกิดส่วนใหญ่จะเป็นงูผู้ดี จะค่อยๆงับแล้วค่อยๆกลืนลงไป ไม่มีการฉกไม่มีการรัด เรียกว่าเลี้ยงกันจนเสียงูเลยทีเดียว 

               แน่นอนว่าอีกที่เหลือ 5% นี้เป็นการให้อาหารงูแบบเป็นๆ แต่เดี๋ยวก่อน นั่นไม่ใช่เพราะว่าเราโหดร้าย ป่าเถื่อน ซาดิสม์ วิตถารแต่อย่างใด สาเหตุมันก็มีหลายสาเหตุ งั้นผมจะขอพูดในเรื่องของหนูเป็นอย่างละเอียดก่อนละกันนะครับ ขอเริ่มจากสาเหตุของการให้หนูเป็นก่อนละกัน สาเหตุหลักๆก็จะมีดังนี้ครับ

1. งูตัวนี้ไม่ได้ถูกฝึกกินแช่มาแต่เกิด แน่นอนว่าเหยื่อแช่แข็งจะต้องมาทำละลายก่อนถึงจะให้งูกินได้ ซึ่งบางคนที่เลี้ยงงูเป็นร้อยเป็นพันตัว จริงๆเอาแค่หลัก 50 ตัวขึ้นบางคนก็ขี้เกียจละลายหนูแล้วครับ จึงให้หนูเป็นเพื่อการร่นระยะเวลา 

2. กินแช่มาแต่เกิด แต่พอคนเลี้ยงเอาหนูเป็นมาให้ลองกิน เจอหนูเป็นแล้วกลับติดใจหนูเป็น นั่นเป็นสัญชาติญาณของงูแบบหนึ่ง การที่หนูดุ๊กดิ๊กนั้นส่วนหนึ่งก็เป็นการช่วยกระตุ้นให้งูอยากอาหารครับ เมื่ออยากกิน ก็ต้องกิน เพราะฉะนั้นถ้างูเรากินหนูแช่ ก็อย่าพยายามเอาหนูเป็นให้มันกินนะครับ

3. ในแง่ของสารอาหาร แน่นอนว่าอาหารสดย่อมดีกว่าอาหารแช่แข็งในเรื่องของสารอาหารอยู่แล้ว ซึ่งผู้เลี้ยงงูที่ค่อนข้างใส่ใจในเรื่องนี้ก็ต้องตัดใจให้หนูเป็นเพราะว่ากลัวว่างูจะได้รับสารอาหารไม่ครบ ซึ่งจากที่ได้สังเกตและสอบถามพูดคุยมา การให้หนูเป็นนี่งูจะค่อนข้างโตเร็วกว่าและเนื้อแน่นกว่าจริงๆครับ

               นี่ก็จะเป็นเหตุผลหลักๆในการใช้หนูเป็น เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะซื้องู อย่าลืมถามด้วยนะครับว่างูตัวนี้กินหนูเป็นหรือหนูแช่ อยากได้แบบไหนก็ตามสะดวกครับ แต่ถ้าเลี้ยงแค่ไม่กี่ตัวก็แนะนำให้กินหนูแช่แข็งดีกว่านะครับ

ข้อเสียของการให้หนูเป็น 

1. ต้องมานั่งเลี้ยงหนูเอง ซึ่งถ้าเราไม่ได้ทำฟาร์มหรือมีพื้นที่มากพออยู่แล้วอันนี้ก็จะค่อนข้างลำบาก ยิ่งถ้าเลี้ยงงูเยอะๆแต่ที่ในบ้านน้อยนี่ แนะนำเป็นเหยื่อแช่แข็งดีกว่าครับ เพราะการเลี้ยงหนูนอกจากจะให้อาหารแล้วยังต้องคอยทำความสะอาด ให้นำ เปลี่ยนขี้เลื่อย แถมบ้านและห้องยังเหม็นอีกครับ 

2. เสี่ยงงูจะโดนกัด เพราะว่าเวลาที่งูรัดหนู บางจังหวะที่เจ้างูของเรากะพลาดก็อาจจะทำให้พลาดท่าโดนหนูกัดได้ ของผมก็เคยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้เช่นกันครับ เรื่องมีอยู่ว่า ผมมีงูตัวนึงที่กินหนูแช่มาตั้งแต่เกิด วันนึงคิดอยากลองให้มันกินหนูเป็นขึ้นมา เลยจับใส่ งูก็ฉกตามปกติของมันครับ แต่ด้วยการที่ไม่เคยมีสกิลการล่าเลย ไม่รู้ว่าควรรัดตรงไหนหรือกัดตรงไหน ก็เลยโดนหนูกัดแทนครับกัดจนหนังลอกออกจนเห็นเนื้อ ไม่อยากจะคิดถ้ากัดตรงตาจะแย่ขนาดไหน หลังจากนั้นผมก็ไม่เคยให้หนูเป็นอีกเลย

3. หนูทรมาน การที่งูฉกและรัดหนูนี่ทำให้หนูทรมานมากครับ เพราะว่าเวลางูรัดเนี่ยมัดจะกดกล้ามเนื้อทุกๆครั้งที่เหยื่อยกกระบังลมขึ้นหรือหายใจนั่นเองครับ ในสภาวะที่เหยื่อขาดออกซิเจนนั้นจะมีสภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น สภาวะเลือดเป็นพิษ เป็นต้น ซึ่งกว่าจะสิ้นลมหายใจจริงๆได้เนี่ยเจ้าหนูคงทรมานไม่ใช่น้อยเลยครับ เพราะฉะนั้นซื้อหนูที่ถูกการุณยฆาตตามแบบปกติดีกว่าครับ เพื่อความสบายใจของเราเอง 

                 เมื่อเรารูัถึงข้อเสียของการให้หนูเป็นกันแล้ว เราก็มาเข้าเรื่องของหนูแช่แข็งกันบ้างดีกว่าครับ ว่ามันจะดียังไง และจะสะดวกขนาดไหน ก่อนให้งูกินต้องทำอย่างไร 

หนูไมซ์แช่แข็ง (Frozen Mice)

                เป็นอาหารงูที่สะดวกและง่ายต่อการเก็บรักษา มีหลากไซส์หลายขนาดให้เลือกตามแต่ขนาดของงูที่เราเลี้ยง อีกทั้งยังปลอดภัยกับตัวงูอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้หนูแช่แข็งกลายมาเป็นอาหารงูที่ผู้เลี้ยงนิยมใช้มากที่สุด เวลาซื้อมาก็สามารถนำแช่ในช่องฟรีซได้ทันที อ๊ะๆ ! แต่เดี๋ยวก่อน ก่อนจะแช่ในช่องฟรีซก็อย่าลืมดูให้แน่ใจว่าแพ็คเกจของเราไม่รั่วไหลจนนำเชื้อโรคมาทำอันตรายเราเองด้วยนะครับ ควรจะแพ็คให้ดีและมิดชิดก่อนที่จะนำไปเข้าช่องฟรีซครับผม

                ในปัจจุบันมีการแพ็คบรรจุภัณฑ์ให้เลือกอย่างหลากหลาย ทั้งซีลแบบสูญญากาศเพื่อรักษาและคงความสดใหม่ของหนูไว้ การแพ็คแบบซีลพลาสติกอย่างดี ซึ่งทำให้สามารถแช่ตู้เย็นไว้ได้เลย ซึ่งเรียกว่าสะดวกสบายกันสุดๆ แถมบางเจ้ายังมีบริการส่ง Delivery ถึงหน้าบ้านก็มีครับ เรียกว่าเป็นยุคที่คนเลี้ยงงูสะดวกสบายมากครับ

การทำละลายหนูแช่แข็ง

                การทำละลายหนูแช่แข็งก็สุดแสนจะง่ายและมีสารพัดวิธีให้ได้ลองทำกัน เราไม่ต้องการหนูที่สุกหรือร้อนเกินไป เพียงแค่หนูเปลี่ยนจากที่ตัวแข็งๆจนเป็นตัวนิ่มๆเหมือนตอนที่มีชีวิตและอุ่นนิดๆ ก็สามารถให้งูได้แล้วครับ ส่วนวิธีการทำละลายก็มีหลายวิธี ดังนี้

1. ใช้ไดร์เป่าผมเป่า ซึ่งก็คือการเป่าลมร้อนชนิดหนึ่ง เพื่อทำละลายนั่นเองครับ

2. เอาหนูลงไปแช่ในน้ำอุณหภูมิห้องแล้วต้มน้ำร้อนเทใส่ เมื่อหนูละลาย ก็จับขึ้นมาและเช็ดน้ำออก

3. เอาไปอังพัดลมแอร์ ซึ่งค่อนข้างร้อน นับเป็นอีก 1 วิธีที่ใช้ประโยชน์ของแอร์ได้อย่างคุ้มค่าครับ

4. ทิ้งไว้เฉยๆ รอมันละลายเอง จริงๆวิธีนี้ไม่แนะนำเพราะแบคทีเรียจะเจริญเติมโตได้รวดเร็ว แถมยังเสี่ยงหนูเน่าเพราะลืมทิ้งไว้อีกครับ 


                หนูไมซ์แช่แข็ง                                         หนูไมซ์แช่แข็งไซส์ต่างๆ



การเพาะพันธุ์หนูไมซ์ในฟาร์ม


หนูไมซ์ไซส์หนูแดง


งูคอร์นกินหนูแช่แข็ง



งูคอร์นกินหนูแช่แข็ง


งูคอร์นในสถานที่เลี้ยงส่วนใหญ่บริโภคหนูแช่แข็ง

เป็นไงกันบ้างครับ หลายๆคนก็คงจะได้รับความรู้กันไปไม่มากก็น้อย ถ้าหากมีอะไรเพิ่มเติมหรืออยากให้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องอะไรเพิ่มก็สามารถ comment มาบอกได้เลยนะครับ

สำหรับใครที่อยากจะอ่านข้อมูลของงูคอร์นต่อสามารถคลิกที่ ตรงนี้ ได้เลยครับ

        หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามผมได้ที่ Facebook ได้โดยตรงเลยครับ
___________________________
ติดต่อโฆษณาและเป็น Sponsor : 095-636-8778 (เกศ)




ความคิดเห็น

  1. ถ้านำหนูแช่แข็งออกมาตอนกลางคืนและให้ตอนเช้า ดีสำหรับงูรึเปล่าค่ะ หนูจะเน่ามั้ยค่ะ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม